มวยไทย เป็นศาสตร์และศิลป์การต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทย มีร่องรอยการพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เริ่มชัดเจนขึ้นในสมัยทวารวดี รุ่งเรืองในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีกลวิธีในการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ มือ เท้า เข่า ศอก อย่างละ ๒ ศีรษะอีก ๑ รวมเรียกว่า
“นวอาวุธ” อย่างผสมกลมกลืน ทั้งในการต่อสู้ป้องกันตัวและเชิงกีฬา
มวยไทย มีความสำคัญทั้งต่อบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีส่วนสำคัญยิ่งในการดำรงเอกราชของชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยก่อนชายฉกรรจ์ไทยแทบทุกคน รวมถึงพระมหากษัตริย์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางฝ่ายทหาร และสามัญชน จะได้รับการฝึกฝนมวยไทยไว้เพื่อป้องกันตัวและชาติบ้านเมือง เพราะการใช้อาวุธ เช่น กระบี่กระบอง พลอง ดาบง้าว ทวน ประกอบกับมวยไทยจะทำให้การใช้อาวุธนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างอยิ่งในการต่อสู้ป้องกันตัวระยะประชิด
ศิลปะมวยไทย คือ ศิลปะการต่อสู้ที่ใชหลักพื้นฐานและทักษะการต่อสู้ในระดับต่าง ๆ คือ ท่าร่าง เชิงมวย ไม้มวยและเพลงมวย อย่างผสมผสานกันจนมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการรุกและการรับ
ท่าร่าง คือการเคลื่อนตัว และการเคลื่อนที่
เชิงมวย คือท่าทางของการใช้นวอาวุธในการต่อสู้ แบ่งออกเป็นเชิงรุก ได้แก่ เชิงหมัด เชิงเตะ เชิงถีบ เชิงเข่า เชิงศอก และเชิงหัว
เชิงรับ ได้แก่ ป้อง ปัด ปิด เปิด ปะกบ ปะกับ จับรั้ง เป็นต้น ซึ่งเชิงมวยนี่ถือว่าเป็นพื้นฐานของศิลปะการต่อสู้ เข้ากับ ท่าร่าง และเชิงมวย ถ้าใช้เพื่อการรับเรียกว่า “ไม้รับ” ถ้าใช้เพื่อการรุกเรียกว่า “ไม้รุก”
ไม้มวย ยังแบ่งออกเป็นแม่ไม้ ลูกไม้และไม้เกร็ด แม่ไม้ คือ การปฏิบัติการหลักที่เป็นแม่บทของการปฏิบัติการรุกและรับ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ กำลัง พื้นที่ที่ใช้กำลัง และจังหวะเวลาในการใช้กำลัง ลูกไม้ คือการปฏิบัติการรองที่แตกย่อยมาจากแม่ไม้ ซึ่งแปรผันแยกย่อยไปตามการพลิกแพลงของท่าร่างและเชิงมวยที่นำมาประยุกต์ใช้
และไม้เกร็ด คือ เคล็ดลับต่าง ๆ ที่นำมาปรุงทำให้แม่ไม้และลูกไม้ที่ปฏิบัติมีความพิสดารมากยิ่งขึ้น มีการตั้งชื่อไม้มวยต่าง ๆ ให้ไพเราะ เข้าใจและจดจำง่ายโดยเทียบเคียงลักษณะท่าทางของการต่อสู้กับชื่อหรือลีลาของตัวละคร เหตุการณ์ หรือสัตว์ในวรรณคดี เช่น เอราวัณเสยงา หนุมานถวายแหวน มณโฑนั่งแท่น อิเหนาแทงกฤช ไม้มวยบางไม้ เรียกชื่อตางสิ่งที่คุ้นเคยในวิถีชีวิตของคนไทย เช่น เถรกวาดลาน คลื่นกระทบฝั่ง หนูไต่ราว มอญยันหลัก ญวนทอดแห เป็นต้น เพราะเมื่อเอ่ยชื่อท่ามวยแล้วจะทำให้นึกถึงท่าทางของการต่อสู้ได้อย่างชัดเจน
ส่วนเพลงมวย หมายถึงการแปรเปลี่ยนพลิกแพลงไม้มวยต่าง ๆ ต่อเนื่องสลับกันไปอย่างพิสดารและงดงามในระหว่างการต่อสู้
ในอดีตมวยไทยชกกันด้วยมือเปล่า หรือใช้ด้ายดิบพันมือ หรือเรียกกันว่า “คาดเชือก” จึงสามารถใช้มือในการจับ หัก บิด ทุ่มคู่ต่อสู้ได้ นักมวยจึงใช้ชั้นเชิงในการต่อสู้มากกว่า การใช้พละกำลัง จึงเกิดไม้มวยมากมาย แต่เมื่อมวยไทยได้พัฒนาเป็นกีฬามากขึ้น มีการออกกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่นักมวย บางท่าจึงถูกลืมเลือนไปในที่สุด (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม : วันมวยไทย, ๑๓ – ๑๔)
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเชิงกีฬาและการต่อสู้จริง ๆ ศิลปะประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณกาล บรรพบุรุษของชาติไทยได้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนกุลบุตรไว้เพื่อป้องกันตัวและป้องกันชาติ บรรดาชายฉกรรจ์ของไทยได้รับการฝึกฝนวิชามวยไทยแทบทุกคน นักรบผู้กระเดื่องนามทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมศิลปะประเภทนี้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น เพราะการใช้อาวุธรบในสมัยโบราณเช่น กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ
ถ้ามีความรู้วิชามวยไทยประกอบด้วยแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เข้าสู้ติดพันประชิดตัวก็จะได้อาศัยใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วย เช่น เข่า เท้า ศอก เป็นต้น แต่เดิมมาศิลปะมวยไทยที่มีชั้นเชิงสูงมักจะฝึกสอนกันในบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือ เฉพาะพระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปถึงสามัญชน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากบรรดาอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดขุนพล หรือนักรบมาแล้ว วิทยาการจึงได้แพร่หลายและคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
บรรพบุรุษมีความเฉลียวฉลาดในการคิดค้น ดัดแปลงและพลิกแพลงในการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น มือ , เท้า , เข่า , ศอก และศีรษะเข้าต่อสู้ป้องกัน ปิดป้องส่วนที่อ่อนแอของร่างกายได้เป็นอย่างดี วิธีการต่อสู้ป้องกันตนเองของไทย ซึ่งจะหาการต่อสู้ของชาติอื่นมาเทียบไม่ได้ การต่อสู้ด้วยมือเปล่าของไทยเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ประจำชาติ เรียกว่า “ มวยไทย ”
มวยไทย จัดได้ว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ของชนชาติไทย นับแต่โบราณกาลพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ทรงศึกษาและฝึกหัดมวยไทยทุกพระองค์จนแคล่วคล่อง เพื่อใช้เป็นอาวุธต่อสู้และควบคู่กับอาวุธอื่น ๆ ในการต่อสู้กับศัตรู สำหรับรักษาความเป็นอธิปไตยของชาติตลอดมา มวยไทยนอกจากจะเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทยแล้ว ยังเป็นกีฬาที่แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่เป็นมรดก และวัฒนธรรมสืบทอดมาช้านาน มีวิวัฒนาการมาหลายชั่วอายุคน มีประวัติการใช้มวยไทยต่อสู้อย่างกล้าหาญ เพื่อป้องกันบ้านเมืองมาหลายยุคหลายสมัย
มวยไทยจึงเป็นมรดกของการสั่งสมวัฒนธรรมและประเพณีหลาย ๆ ด้านอย่างผสมกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณ คาถา อาคม ดนตรี วรรณกรรม คุณธรรมและจริยธรรม มวยไทยจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่บรรพบุรุษไทยได้คิดค้นอย่างชาญฉลาด โดยการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผสมผสานกับพลังกาย และพลังแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์ ออกมาเป็นลีลากระบวนท่าของการต่อสู้ได้อย่างงดงามน่าเกรงขาม
พิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีขึ้นตั้งแต่แรกมอบตัวเป็นศิษย์ ได้แก่ การขึ้นครู การครอบครู การไหว้ครู และดนตรีปี่มวย จนกระทั่งการถ่ายทอดการเรียนรู้ตลอดจนกระบวนท่าไม้มวยไทยของครูมวยแต่ละคนนั้น แฝงไว้ด้วยคติธรรมแห่งความรู้รักสามัคคีในหมู่คณะ ความกตัญญูกตเวที ความมีมานะพยายาม ความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้รู้ ผู้เรียน เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และจิตใจ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม
มวยไทย เป็นศิลปะของการต่อสู้ป้องกันตัวได้จริงสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในการต่อสู้และในการกีฬา ศิลปะประเภทนี้บรรพบุรุษของชาติไทยใช้อบรมสั่งสอนสืบทอดกันมาให้ดำรงอยู่ต่อไป บรรดาชายฉกรรจ์จะได้รับการสั่งสอนฝึกฝนศิลปะประเภทนี้อย่างจัดเจนทั้งสิ้น การใช้อาวุธรบสมัยโบราณ เช่น กระบี่กระบอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ นักรบไทยจะนำไปประกอบการต่อสู้ที่มีชั้นเชิงสูง เดิมมักจะฝึกสอนกันเฉพาะบรรดาเจ้านายชั้นสูงนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น
ต่อมาจึงแพร่หลายไปถึงสามัญชน ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากครูอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดทหารขุนพล ยอดนักรบของชาติมาแล้ว ได้ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต พยายามถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ศิษยานุศิษย์ และสืบเนื่องมากจากไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ครูอาจารย์ที่สอนอยู่ในเพศบรรพชิต จึงทำให้มวยไทยกับศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์กันจนแยกไม่ออก ซึ่งจะสังเกตได้จากก่อนการชก นักมวยจะมีการไหว้ครู ร่ายมนต์คาถาตามร่างกายก็มีเครื่องรางของขลัง เช่น ผ้าประเจียดรัดแขน หรือมงคลสวมศีรษะ เป็นต้น
มวยไทย ในสมัยก่อนเท่าที่ทราบจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเราได้มีการรบพุ่งและสู้รบกันกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อย ๆ การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กันมีแต่ ดาบสองมือและดาบเดี่ยว เมื่อเป็นเช่นนี้การรบพุ่งก็ต้องมีการประชิดตัว คนไทยเห็นว่าการรบด้วยดาบนั้นเป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไป บางครั้งคู่ต่อสู้อาจจะเข้ามาฟันเราได้ง่ายขึ้น ทำให้แพ้คู่ต่อสู้ได้
ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้รับการฝึกถีบ เตะแล้ว มีผู้คิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้การถีบ และเตะนั้นมาเป็นศิลปะสำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงได้มีผู้ที่คิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่าง ๆ ไว้อวดชาวบ้าน และเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้าน
เมื่อเป็นเช่นนี้นานเข้าชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบ-เตะอย่างแพร่หลายและบ่อยเข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมาย แต่สำนักที่ฝึกมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อน และมีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านกระบี่กระบองและมวยไทยไว้ฝึกสอน ดังนั้น
มวยไทยสมัยนั้นจึงฝึกเพื่อมีความหมาย ๒ อย่าง คือ
๑. เพื่อไว้สำหรับสู้รบข้าศึก
๒. เพื่อไว้ต่อสู้ป้องกันตัว