คุณค่าและประโยชน์ของการเรียนมวยไทย มีดังต่อไปนี้
(สุขพัชรา ซิ้มเจริญ และไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์, ๒๕๕๓ : ๖-๗)
คุณค่าต่อสภาพร่างกาย
๑. บริหารร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ก่อนจะหัดมวยก็ย่อมจำเป็นอยู่เองที่จะต้องพยายามบริหารร่างกาย และกล้ามเนื้อ ให้สมบูรณ์แข็งแรงเสียก่อน แม้ขณะฝึกหัดก็เช่นกัน อวัยวะทุกส่วนจะต้องได้รับการบริหารตลอดเวลา
๒. ร่างกายมีความสง่างามสมส่วน หลังจากฝึกหัดหรือฝึกซ้อมแล้ว ย่อมต้องการมีการบริหารและการนวดที่ถูกวิธี ผลของการนวดนี้เองย่อมทำให้โลหิตและของเสียในร่างกายเกิดการถ่ายเท และโลหิตเดินได้สะดวกและทั่วถึง
๓. ร่างกายมีความทรหดอดทน บึกบึน การฝึกซ้อมเสมอ ๆ ร่างกายจะเกิดความเคยชินต่อความเหน็ดเหนื่อย และเคยชินต่อการกระทบกระเทือนหรือความเจ็บปวด
๔. ความรวดเร็วว่องไว จากการฝึกหัดมวยท่าต่าง ๆ ทั้งรุกและการรับ การรุกก็คือ การเข้าชก ซึ่งมีวิธีต่าง ๆ มากมาย การรับก็มีการถอย การผงะ การฉาก การหลบ การปิดป้อง ตลอดจนการตอบโต้ การเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา และอยู่ในระยะกระชั้นชิด
๕. ส่งเสริมความสัมพันธ์ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เพราะการชกมวยประสาทต้องสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและ รวดเร็ว เพราะขณะที่ชกคู่ต่อสู้ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปิดและหลบไปด้วย การที่จะให้ทั้งสองสิ่งนี้ทำงานได้ดีจะต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ ผลของการฝึกหัดย่อมเพิ่มพูนความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทได้ดีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
๖. สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคให้แก่ร่างกาย การชกมวยต้องใช้อวัยวะทุกส่วนเคลื่อนไหว ความแข็งแรง สมบูรณ์ที่ได้รับจากการฝึกหัดมวย การรักษาอนามัยที่ถูกหลักของนักกีฬาย่อมยังผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคที่จะเข้ามาในร่างกายได้เป็นอย่างดี
คุณค่าทางสภาพจิตจากการเล่นต่อชีวิตประจำวัน
๑. ความกล้าหาญ การชกมวยเป็นการต่อสู้กันซึ่งหน้า มุ่งหมายที่จะเผด็จศึกซึ่งกันและกันตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นนักมวยที่รุ่งโรจน์ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจที่กล้าหาญ
๒. ความเข้มแข็ง อดทน การฝึกมวยหรือการชกมวยต้องออกกำลังอยู่ตลอดเวลา ทำให้ร่างกายได้รับความเหน็ดเหนื่อย และอ่อนเพลีย ถ้าหากจิตใจไม่เข้มแข็งไม่มีความทรหดอดทนแล้ว ย่อมเป็นหนทางที่ทำให้เลิกล้มได้ง่าย
๓. เชื่อมั่นในตนเองและตัดสินใจได้ดี กิจกรรมทุกประเภทผู้เล่นที่จะเล่นได้ดีจะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเองว่ามีความสามารถที่จะกระทำได้ และตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว โดยเฉพาะเกี่ยวกับกิจกรรมประเภทต่อสู้เป็นรายบุคคลด้วยแล้ว ยิ่งมีความสำคัญที่สุด
๔. ความเฉลียวฉลาดและไหวพริบ การต่อสู้ย่อมเต็มไปด้วยกลยุทธและกลเม็ดที่คู่ต่อสู้นำมาใช้อย่างมากมายเพื่อชัยชนะ ดังนั้น การฝึกมวยจึงต้องฝึกให้รู้จักใช้กลยุทธ เพื่อกระทำให้คู่ต่อสู้และรู้จักแก้ตามชั้นเชิงกับคู่ต่อสู้
๕. ความมีระเบียบวินัย ผู้ที่จะประสบความสำเร็จจากวิชามวยได้นั้นจะต้องทำตนอยู่ในระเบียบแบบแผนของผู้ฝึก (Trainer) ในเรื่องการฝึกซ้อม การรักษาสุขภาพ ตลอดจนการปฏิบัติตัวให้เป็นไปตามแบบแผนของตารางฝึก การได้รับการอบรมบ่มนิสัยจากผู้ฝึกจึงเป็นทางที่ผู้รับการฝึกหัดจะเกิดมีระเบียบวินัยอันดีงามขึ้นในตัวได้เป็นอย่างดี
๖. ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา และมีความซื่อสัตย์สุจริตประจำตัว การต่อสู้บนเวทีแต่ละครั้งจะต้องต่อสู้กันอย่างจริงจัง ครั้นสิ้นสุดการต่อสู้กันแล้วต่างฝ่ายก็ย่อมแสดงความยินดีและให้อภัยต่อกันโดยมิได้มีใจอาฆาต
๗. รู้จักป้องกันตนเอง การฝึกหัดมวย ย่อมต้องฝึกให้รู้จักการป้องกันตนเองโดยตรง ให้พ้นจากการถูกชก หรือถูกทำร้ายจากคู่ต่อสู้ สิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากการฝึกหัดที่ซ้ำ ๆ ย่อมติดตัวไปใช้ได้ในการป้องกันตัวเมื่อเกิดเหตุจำเป็นหรือยามคับขันได้ดี
คุณค่าทางสังคม ต่อชีวิตประจำวัน
การศึกษาวิชามวยไทย จะต้องเป็นผู้ได้รับการอบรมให้มีระเบียบวินัยดี การรักษาวินัย การเคารพในกฎกติกา การเชื่อฟังผู้ฝึก เชื่อฟังผู้ตัดสินนี้เองจึงนำไปสู่มารยาท อันดีงาม มีน้ำใจเป็นนักกีฬา สุจริต ยุติธรรม มีความเชื่อมั่นในตัวองเป็นการฝึกฝนชีวิตให้รู้จักการเป็นนักสู้ที่ดี สำหรับมวยไทยนั้นมีการไหว้ครูร่ายรำเป็นการรักษาไว้ซึ่งระเบียบประเพณีอันดีงาม เป็นกีฬาประจำชาติไทย ที่พรั่งพร้อมด้วยศิลปวัฒนธรรมของชาวไทย จึงทำให้เป็นผู้มีจรรยามารยาทดีงาม เคารพคุณพ่อ คุณแม่ ครู-บา อาจารย์ และผู้ประสิทธิ์ ประสาทวิชา